ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
วันมาฆบูชาเป็นวันที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทสำคัญอันถือได้ว่าเป็นหัวใจของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ) เดือนสาม ดวงจันทร์โคจรมาเสวยมาฆฤกษ์ แต่ถ้าปีใดมี อธิกมาส คือ เดือนแปดสองแปด วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญกลางเดือนสี่ เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ รัฐมคธ ในปีแรกของการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ คือ หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๙ เดือน ความประจวบกันพอดีของเหตุการณ์ในวันนี้ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ มีสี่ประการคือ
ประการแรก เป็นการมาชุมนุมกันของพระสงฆ์สาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป เพื่อเฝ้าพระบรมศาสดา โดยมิได้นัดหมาย
ประการที่สอง พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
ประการที่สาม พระสงฆ์สาวกดังกล่าวล้วนแต่ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ความพร้อมกันขององค์สี่ประการจึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นการประมวลคำสอนหลักของพระพุทธศาสนา เพื่อให้พระสงฆ์สาวกนำไปประพฤติปฏิบัติ และนำไปสั่งสอนผู้อื่นในแนวทางเดียวกัน คือ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
|
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
|
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
|
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
|
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
|
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
|
สมโณ โหติ ปรํ วิเหธยนฺโต
|
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
|
สพฺพปาปสฺส อกรณํ
|
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
|
กุสลสฺสุปสมฺปทา
|
การทำความดีให้ถึงพร้อม
|
สจิตฺต ปริโยทปนํ
|
การทำใจให้สะอาดบริสุทธิ์
|
เอตํ พุทฺธานสาสนํ
|
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา
|
อนูปวาโท อนูปฆาโต
|
การไม่พูดร้าย การไม่ทำร้าย
|
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
|
การสำรวมในปาติโมกข์
|
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
|
ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค
|
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
|
การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด
|
อธิ จิตฺเต จ อาโยโค
|
ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง
|
เอตํ พุทฺธานสาสนนฺติ
|
นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
|
มีข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ที่อาจจะจำเพาะเจาะจงสำหรับนักบวชหรือบรรพชิต และบางข้อก็นำไปประพฤติปฏิบัติได้ทั้งบรรพชิตและผู้ครองเรือน อย่างไรก็ตามข้อความในโอวาทปาฏิโมกข์ก็ได้แสดงถึง จุดหมายสูงสุด แห่งพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานดังนั้นพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า จึงควรศึกษาพระโอวาทปาฏิโมกข์ให้เข้าใจแจ่มแจ้ง แล้วน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ ตามฐานะและกำลังความสามารถของตน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น